งาดำเป็นธัญพืชมีประโยชน์ในด้านสุขภาพ กล่าวคือ เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยาแผนโบราณในศาสตร์ของแพทย์ทางเลือก สารอาหารที่เรารู้จักกันดี คือ แคลเซียม เพราะถูกสอนต่อๆกันมาว่า การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูง จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน คนส่วนมากจึงให้ความสนใจงาดำ เพราะเป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูง ส่วนเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคลเซียมในงาดำมีอะไรบ้าง ? ลองติดตามอ่านบทความนี้ดูครับ
งาดำมีแคลเซียมสูงมากและสูงกว่านมวัว
งาดำหรืองาสีอื่นๆมีปริมาณแคลเซียมสูง งาน้ำหนัก 100 กรัม จะมีปริมาณแคลเซียมโดยเฉลี่ย 975 มิลลิกรัม เมื่อเราลองเทียบกับปริมาณแคลเซียมในนมวัวที่เรานิยมบริโภคกันเพราะเข้าใจว่าเป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูง จะพบว่านมวัวทั่วไป (ปริมาณไขมัน 3.25%) 100 กรัม มีแคลเซียม 113 มิลลิกรัม ซึ่งแสดงให้เห็นว่างาดำมีปริมาณแคลเซียมเป็น 8 เท่าของนมวัวเลยมีเดียว (975/113 = 8.62 เท่า)
90% ของแคลเซียมในงาดำอยู่ในเปลือกหุ้มด้านนอก
งาดำหรืองาสีอื่นๆจะมีเปลือกหุ้มด้านนอก ที่ทำให้หน้าที่ในการห่อหุ้มเนื้อในของงาดำเพื่อป้องกันศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลง 90% ของแคลเซียมงาดำจะอยู่ในเปลือก อีก 10% จะอยู่ที่เหลือจะอยู่ในเนื้อของงาดำ ดังนั้น การบริโภคงาดำเพื่อให้ได้แคลเซียมมากที่สุดจึงควรบริโภคงาไม่ขัดสีหรือรับประทานทั้งเมล็ดครับ
แคลเซียมงาดำส่วนมากอยู่ในรูปของแคลเซียมออกซาเลต (Calcium Oxalate)
แคลเซียมออกซาเลตถูกกล่าวหาว่า เป็นแคลเซียมที่ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้น้อย ซึ่งข้อสรุปนี้เกิดขึ้นในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ประเด็นนี้ผู้เขียนพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้พบว่าแนวคิดเกี่ยวกับการบริโภคแคลเซียมออกซาเลตมีอยู่ 2 แบบ ดังต่อไปนี้
- การบริโภคแคลเซียมออกซาเลต ได้ประโยชน์น้อยเพราะร่างกายดูดซึมไปใช้ได้น้อย โดยสรุปผลจากการทดลองในแลป
- การบริโภคแคลเซียมออกซาเลต ร่างกายจะดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งคำตอบนี้ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันสารอาหารเพื่อสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา แนนซี่ เซเบิร์ท ได้กล่าวไว้ว่า “เราไม่สามารถทราบได้จริงๆเลยว่า อัตราการดูดซึมสารอาหารของอาหารแต่ละชนิดเป็นเท่าใด สารอาหารที่เราบริโภคเข้าไปแต่ละชนิดทำปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราทานอาหารอะไรเข้าสู่ร่างกายบ้าง อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความต้องการสารอาหารในแต่ละบุคคล ร่างกายของคนเรามีความสามารถในการปรับสภาพการดูดซึมสารอาหาร เมื่อร่างกายขาดสารอาหารชนิดใด ร่างกายจะพยายามชดเชยด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมสารอาหารชนิดนั้น”
การคั่วงาดำเป็นการเพิ่มปริมาณแคลเซียม
หากเรานำงาไปคั่วจะเป็นการเพิ่มปริมาณแคลเซียมให้สูงขึ้น โดยที่ ถ้าเราคั่วงาทั้งเมล็ดหรือทั้งเปลือกหุ้ม งาคั่วที่ได้จะมีปริมาณแคลเซียมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 2-3% แต่ถ้าเรานำงาที่ขัดสีแล้วไปคั่วแเคลเซียมจะเพิ่มเป็น 2 เท่าเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วงาดำที่ไม่ขัดสีหลังจากคั่วแล้วจะมีปริมาณแคลเซียมมากกว่างาดำขัดสีที่คั่วแล้วอยู่ดี
แคลเซียมงาดำไม่ใช่สารสำคัญเพียงตัวเดียวในการบำรุงสุขภาพ
แม้แคลเซียมจะเป็นแร่ธาตุสำคัญในงาดำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยเฉพาะกระดูกและข้อ แต่สิ่งที่ทำให้งาดำแตกต่างจากอาหารที่มีแคลเซียมสูงชนิดอื่นคือ สารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive Component) ที่เป็นคุณกับร่างกาย เช่น โทโคฟีรอลหรือวิตามินอี (Tocopherals) ลิกแนน (Lignans) ไฟโตสเตอรอล (Phytosterals) ซึ่งโดยรวมแล้วให้ประโยชน์ในแง่ของการป้องกันและต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคแห่งความเสื่อมทุกชนิด เช่น กระดูกพรุน ข้อเสื่อม ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
สรุป
งาดำมีแคลเซียมสูงเหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแห่งความเสื่อมทุกชนิด การบริโภคงาดำควรบริโภคทั้งเมล็ดแบบไม่ขัดสีเพราะมีแคลเซียมสูงกว่างาขัดสีแล้ว อย่างไรก็ตาม การบริโภคงาดำให้เพียงต่อการดูแลสุขภาพของร่างกาย จำเป็นต้องบริโภคให้ได้อย่างน้อย 40 กรัมต่อวัน ซึ่งเป็นการบริโภคที่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ ทางเลือกในการบริโภคงาดำที่ทำได้ง่ายกว่า คือ การบริโภคน้ำมันงาดำสกัดเย็น ซึ่งมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระไม่แพ้การบริโภคงาจริงๆครับ