โรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ หลายๆท่านที่มีพ่อแม่อายุ 60 ปีขึ้นไป หากท่านเป็นคนที่ทำงานหนักมาก่อน น้ำหนักตัวมาก หรือไม่ค่อยดูแลสุขภาพ มักจะได้ยินท่านพูดหรือบ่นบ่อยๆว่า ปวดขา ปวดเข่า ปวดเอว ปวดหลัง ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเสื่อมที่เกิดขึ้นในร่างกายตามวัยหรืออายุที่มากขึ้นนั่นเอง
โรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบ
โรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบโดยปกติแล้วเป็นโรคของความทรุดโทรมหรือความถดถอยจากหลายสาเหตุ โดยมีลักษณะของความเสื่อม แสดงออกมาในลักษณะของการอักเสบ บวม และความเจ็บปวด
ความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับข้อจะเกิดกับกระดูกอ่อนและน้ำหล่อเลี้ยงที่ทำหน้าที่ในการช่วยให้ข้อเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น โดยเกิดขึ้นในลักษณะดังต่อไปนี้
- น้ำหล่อเลี้ยงที่อยู่ในกระดูกอ่อนลดลง ทำให้เกิดการติดขัด เคลื่อนไหวไม่สะดวกกระดูกอ่อนสึกกร่อน
- กระดูกอ่อนเปื่อย ผุพัง
- กระดูกอ่อนเกิดการฉีกขาด
- กระดูกงอกบริเวณข้อ
ความเสื่อมดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้
1. อายุ
อายุที่มากขึ้นร่างกายย่อมมีความเสื่อมที่มากขึ้นตามไปด้วย อาการที่เกิดจากความเสื่อมที่เห็นได้ชัด คือ การอักเสบ ที่แสดงออกมาให้เห็นในรูปแบบของอาการบวม และความเจ็บปวด คนที่มีปัญหาเรื่องข้อเสื่อมหรือข้ออักเสบโดยส่วนมากจึงมักจะเป็นคนสูงอายุหรือคนชรา
2. น้ำหนักตัว
ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและไขข้อย่อมต้องทำงานหนักมากกว่าคนที่น้ำหนักตัวปกติ เพราะอวัยวะดังกล่าวต้องรับภาระหรือรับน้ำหนักมากกว่าปกติอยู่ตลอดเวลา ส่งผลเกิดความเสื่อมของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อเร็วกว่าคนทั่วไปที่ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
3. อุบัติเหตุและการบาดเจ็บ
การเกิดอุบัติเหตุที่สร้างการบาดเจ็บให้กับอวัยวะรับน้ำหนักอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ ย่อมส่งผลกับอวัยวะรับน้ำหนักอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ อวัยวะอื่นอาจจะต้องรับภาระหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น อย่างเช่น ถ้าเราเอ็นหัวเข่าฉีกจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ และต้องผ่าตัดใส่เอ็นเทียม ข้อเข่าของเราอาจจะต้องรับน้ำหนักมากกว่าเดิมและเกิดความเสื่อมเร็วกว่าปกติได้
4. การใช้งานที่มากเกินไป
ส่วนมากความเสื่อมของข้อที่มากเกินไป มีสาเหตุเกิดจากการใช้งานมากกว่าปกติ หรือเกินกำลังที่ร่างกายจะรับไหวต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น ทำงานที่ต้องใช้ข้อมือเป็นประจำ อย่างเช่น งานเกษตรกรรม ที่ต้องถือจอบถือเสียมขุดดิน ถางหญ้า ปลูกพืชเป็นประจำ หรือแม้แต่คนที่ทำงานในออฟฟิศที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำงานตลอดเวลา อาจเกิดอาการนิ้วล็อก เพราะเอ็นข้อนิ้วและข้อนิ้วเสื่อม จึงไม่สามารถใช้งานได้อย่างเป็นปกติ
5. ป่วยด้วยโรคบางชนิด
การป่วยด้วยโรคบางชนิดแสดงอาการออกทางไขข้อ อย่างเช่น รูมาตอยด์ เก๊าต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสียหายหรือความเสื่อมของไขข้อทุกครั้งที่มีอาการ การควบคุมอาการและรักษาโรคที่เป็นสาเหตุเหล่านี้ให้ได้ จะเป็นการช่วยป้องกันข้อและช่วยให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานเป็นปกติ
6. การไม่ดูแลสุขภาพ
ความเสื่อมของข้อที่เกิดจากความชราเป็นเรื่องธรรมชาติ แม้เราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ชะลอได้ ส่วนความเสื่อมของข้อที่มีสาเหตุเกิดจากการไม่ดูแลสุขภาพ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้แต่หลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญ จนกระทั่งเกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคข้อเสื่อม ค่อยหันมาดูแลรักษาเพิ่มเติม ซึ่งในหลายๆกรณีไม่สามารถรักษาได้ด้วยอาหารหรือการทานยาแล้ว ต้องอาศัยการผ่าตัดเท่านั้น
การดูแลสุขภาพที่ถูกต้องเป็นการดูแลสุขภาพข้อไปในตัว หลักในการดูแลสุขภาพง่ายๆที่เราหลายคนทราบกันดีอยู่แล้ว คือ ทานอาหารให้ครบหมู่ ถูกสัดส่วน และเป็นเวลา ออกกำลังกายในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และทำให้จิตใจสบาย มีความสุขและไม่เครียด ทั้งหมดล้วนเป็นหลักการสร้างสมดุลร่างกายและสร้างสุขภาพดีที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีความตั้งใจในการปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัยหรือไม่เท่านั้น
คนที่ไม่ดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น ดื่มเหล้าสูบบุหรี่เป็นประจำ กินอาหารไม่ครบหมู่และไม่ได้สัดส่วน ไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำงานเครียดเป็นประจำและพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายจะเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ นั่นรวมถึงข้อด้วย เพราะร่างกายขาดสมดุลและอยู่ในสภาวะที่เป็นกรดอยู่ตลอดเวลา ภาวะที่ร่างกายเป็นกรด นอกจากจะส่งผลให้สูญเสียมวลกระดูกจนเป็นโรคกระดูกพรุนได้แล้ว ยังส่งผลให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อเสื่อมสภาพและป่วยเป็นโรคข้อเสื่อมเร็วขึ้นอีกด้วย
การบริโภคงาดำช่วยลดอาการปวดข้อเข่าจากโรคข้อเสื่อม
การรักษาโรคข้อเสื่อมในทางการแพทย์แผนปัจจุบันจะเน้นไปที่การต้านการอักเสบและลดความเจ็บปวด จึงมีการใช้ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ที่มีชื่อเรียกว่า Nsaids (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs) ในการรักษาข้อเสื่อมด้วย (ยาแก้ปวดไทลินอลก็จัดเป็นยาในกลุ่ม Nsaids ที่มีการจ่ายให้คนไข้ข้อเสื่อม) แม้ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ จะช่วยลดอักเสบและลดความเจ็บปวดได้จริง แต่ก็มีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงและหลากหลาย ผู้ใช้ยาจึงควรใช้อย่างระมัดระวังและภายใต้คำแนะนำของแพทย์

ยาแก้ปวดชนิดแอสไพริน จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nsaids)
เนื่องจากผลข้างเคียงที่มีมากของยา Nsaids นักวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงพยายามที่จะหาสิ่งทดแทน ที่สามารถใช้ลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยข้อเสื่อมแทนการทานยาแก้ปวดให้ได้
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยทาบริซ (Tabriz University of Medical Sciences) ได้ทำการวิจัยและทดลองใช้งาเพื่อลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarhtritis) จำนวน 50 คน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 25 คน
คนไข้ข้อเข่าเสื่อมกลุ่มแรก จะได้รับประทานงาวันละ 40 กรัม
คนไข้ข้อเข่าเสื่อมกลุ่มที่สอง จะได้รับยาไทลินอลครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
ผ่านไปสองเดือน ผลที่ได้ คือ กลุ่มที่บริโภคงาสามารถลดความเจ็บปวดจากโรคเข่าเสื่อมได้มากกว่ากลุ่มที่รับยาไทลินอลอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้
ค่าความเจ็บปวดของกลุ่มที่รับประทานงาลดลงจาก 9 ⇒ 3.5 (ค่าลดลง 5.5)
ค่าความเจ็บปวดของกลุ่มที่ใช้ยาไทลินอลลดลงจาก 9 ⇒ 7 (ค่าลดลง 2)
การทดลองนี้จึงสรุปได้ว่าการบริโภคงาเพื่อลดความเจ็บปวดจากโรคข้อเสื่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าการทานยาไทลินอล โดยที่การบริโภคงาไม่มีผลข้างเคียงเหมือนการใช้ยาไทลินอลด้วย
ในการทดลองครั้งนี้ไม่ได้พูดถึงว่า งาที่ใช้เป็นงาสีอะไร ? อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณสมบัติของงาดำที่มีสารประกอบฟีนอลซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่สูงกว่างาขาวถึง 3 เท่า การเลือกบริโภคงาดำจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการบริโภคงาขาว
การบริโภคงาดำช่วยต้านการเสื่อมและเพิ่มการสร้างกระดูกอ่อน
สาเหตุของโรคข้อเสื่อมส่วนมากเกิดจากกระดูกอ่อนมีการเสื่อมสภาพ กระดูกอ่อน(calitage) เป็นส่วนของร่างกายที่สำคัญในการรับน้ำหนักที่เกิดขึ้นกับข้อต่อหรือไขข้อ การพัฒนายารักษาโรคข้อเสื่อมจึงเป็นไปในทิศทางของการรักษาและเยียวยากระดูกอ่อนในข้อต่อนั่นเอง
งาดำมีสารประกอบฟีนอลอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสารที่อยู่ในตระกูลลิกแนน อันได้แก่ เซซามิน เซซามอลและเซซาโมลิน และนักวิจัยค้นพบว่า สารเซซามินในงาดำมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้อเสื่อม โดยอ้างอิงจากหลักฐานและผลการทดลองต่อไปนี้
- จากการทดลองกับกระดูกอ่อนของหมูในจานทดลอง พบว่าสารเซซามินมีฤทธิ์ในการยังยั้งสารทำลายกระดูกอ่อนอย่างมีนัยสำคัญ
- จากการทดลองกับหนูที่เป็นโรคข้อเสื่อม พบว่าสารเซซามินมีฤทธิ์ในการย้อนกลับกระบวนการหรือรักษากระดูกอ่อน โดยการลดจำนวนเซลลล์กระดูกอ่อนที่ไม่เป็นระเบียบ เพิ่มความหนาของกระดูกอ่อน ลดการสูญเสียคอลลาเจน (Collagen) และโปรทีโอไกลแคน (Proteoglycans = PGs) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกอ่อน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะช่วยเพิ่มการสร้างคอลลาเจนและโปรทีโอไกลแคนในเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนอีกด้วย
- จากการทดลองโดยใช้เซลล์กระดูกอ่อนของคนพบว่า เซซามินมีความสามารถในการกระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนในคน โดยการกระตุ้นยีนบางชนิดเพื่อเพิ่มปริมาณเอ็นไซม์ที่ใช้ในการสร้างกระดูกอ่อน
ผลจากงานวิจัยทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า สารเซซามินในงาดำ มีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาเพื่อการรักษาโรคข้อเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญผลงานที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้เป็นผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เซซามินสารต้านอนุมูลอิสระในงาดำ
คำว่าความเสื่อมที่เราพูดถึงกันเกิดจากอนุมูลอิสระ เป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บชนิดต่างๆรวมถึงโรคข้อเสื่อม งาดำจัดได้ว่าเป็นทั้งอาหารและยาสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพมากในการต้านความเสื่อมหรือต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของการอักเสบ สารสำคัญหลักในงาดำที่ทำหน้าที่ในการต้านหรือรักษาข้อเสื่อม คือ เซซามิน (Sesamin) ซึ่งเป็นสารที่มีนักวิจัยไทยทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารชนิดนี้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม ซึ่งผลที่ได้มีแนวโน้มที่เป็นไปได้ที่จะนำงาดำมาใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมอย่างได้ผล
การนวดด้วยน้ำมันงาดำเพื่อบำรุงสุขภาพข้อต่อ
การใช้น้ำมันงาในการนวดเพื่อดูแลสุขภาพ พบได้ในการแพทย์แผนอายุรเวทของอินเดีย น้ำมันงาสำหรับคนอินเดียแล้วจัดเป็นน้ำมันมีคุณค่าสารพัดประโยชน์ ใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวันตั้งแต่การประกอบอาหาร การทำยารักษาโรค ไปจนถึงการนวดเพื่อสุขภาพ
การชโลมและนวดร่างกายด้วยน้ำมันงาของคนอีนเดีย จะเริ่มกันตั้งแต่วัยทารกอายุ 2-3 ปี โดยพ่อและแม่จะนวดตัวลูกตั้งแต่หัวจรดเท้าด้วยน้ำมันงา โดยมีความเชื่อตามหลักการแพทย์อายุรเวทว่า น้ำมันงาจะช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง เติบโตเร็ว กระดูกและข้อต่อมีความแข็งแรง
สำหรับผู้ใหญ่ วิธีการชโลมและนวดด้วยน้ำมันงาจะมีกระบวนที่แตกต่างไปเล็กน้อย โดยหลังจากที่ชโลมและนวดน้ำมันงาจนทั่วตัวแล้ว เพื่อเพิ่มการดูดซึมน้ำมันงาเข้าสู่ร่างกายจำเป็นต้องอาบหรือแช่น้ำอุ่นๆเพื่อขยายรูขุมขน ให้น้ำมันงาซึมซาบเข้าสู่ร่างกายให้ได้มากที่สุด
หากเราทราบถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของสารอาหารในน้ำมันงา เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม แมงกานีส ทองแดง เหล็ก สังกะสี วิตามิน B6 โปรตีนจากพืช รวมถึงไขมันชนิดดี จะพบว่าการนวดด้วยน้ำมันงาเพื่อดูแลกระดูกและไขข้อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ นอกเหนือจากการบริโภคโดยการรับประทานโดยตรง
รับประทานงาดำอย่างไรปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด
วีธีการบริโภคงาดำมีอยู่หลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป เราอยากให้ท่านลองพิจารณาตามข้อมูลที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้
รับประทานทั้งเมล็ด

การบดงาดำแบบโบราณ
ถือเป็นวีธีการบริโภคงาดำที่ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะได้บริโภคงาดำทั้งเมล็ดทำให้ได้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนมากที่สุด
การบริโภคงาดำทั้งเมล็ด จำเป็นต้องผ่านการบด เพราะเปลือกของเมล็ดงาดำ ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ หากเราทานงาดำทั้งเมล็ดโดยที่เราไม่ได้บดงาดำเสียก่อน เราจะได้รับประโยชน์น้อยมาก เพราะงาดำจำนวนมากจะผ่านระบบทางเดินอาหารของเราและถูกขับถ่ายออกมา โดยที่ร่างกายไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย (กินงาดำเข้าไปอย่างไรก็ถ่ายออกมาเป็นอย่างนั้น)
คำถามยอดนิยมที่คนบริโภคงาดำมันถามกัน เวลากินงาดำต้องคั่วก่อนไหม ?
การคั่วงาจะทำให้ได้กลิ่นและรสที่ดีขึ้นหรือจะพูดกันง่ายๆก็คือ ช่วยให้บริโภคได้อร่อยขึ้น แต่…การนำงาดำไปคั่วคือการนำงาดำไปผ่านความร้อน ซึ่งความร้อนจะทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งไปลดคุณสมบัติที่ดีในการต้านอนุมูลอิสระ และถ้าคั่วนานเกินไปจนไหม้ จากงาดำที่มีประโยชน์มากก็จะกลายเป็นงาดำที่คุณค่าทางอาหารลดลงและมีความเป็นพิษต่อร่างกายเพราะมีอนุมูลอิสระอยู่
การคั่วงาควรคั่วใช้เวลานานประมาณ 3-5 นาที พอให้งามีกลิ่นหอมก็เพียงพอแล้ว สำคัญคืออย่าให้งาไหม้
การเก็บรักษางาบดเป็นเรื่องที่ต้องให้ความระมัดระวัง เพราะงาเป็นอาหารที่เกิดเชื้อราได้ง่าย หากดูแลไม่ถูกวิธี เช่น เก็บไว้ในที่ที่มีความชื้น หรือภาชนะที่เก็บงาบดไม่มิดชิด มีอากาศเข้าได้ ก็จะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่ายขึ้นด้วย
การบริโภคงาดำในรูปน้ำมัน

น้ำมันงาดำ
การบริโภคน้ำมันงาได้รับความนิยมมากในประเทศอินเดีย ทั้งในรูปน้ำมันประกอบอาหาร ยาสมุนไพร และการนวดเพื่อบำบัด
การสกัดงาเพื่อเอาน้ำมันนั้น ในสมัยก่อนจะใช้วิธีการบดงาให้ละเอียดแล้วบีบเอาเฉพาะน้ำมันงาแยกออกมา โดยจะเหลือกากงาที่สามารถนำไปทำแป้งงาได้ ซึ่งการบีบน้ำมันงาในสมัยก่อน ในกระบวนการบดงาจะทำให้เกิดความร้อน ซึ่งจะไปลดคุณค่าทางอาหารของน้ำมันงาและคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระลงด้วย
การสกัดน้ำมันงาในยุคปัจจุบัน จึงมีการพัฒนาวีธีการที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อรักษาคุณค่าทางอาหารของน้ำมันงาและคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระให้มากที่สุด การสกัดน้ำมันงาจึงใช้วีธีการสมัยใหม่ที่เรียกว่า การบีบเย็น (Cold Pressed) ซึ่งในกระบวนการบีบจะไม่เกิดความร้อน จึงส่งผลให้ได้น้ำมันงาที่มียังคงคุณค่าทางอาหารสูงและยังคงคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย
การเก็บรักษาน้ำมันงาดำสกัดเย็น มีอยู่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกจะบรรจุอยู่ในภาชนะ เช่น ใส่ขวดหรือโหลที่มีฝาปิดมิดชิดป้องกันอากาศเข้า การเก็บในรูปแบบนี้มักจะนำน้ำมันไปประกอบอาหารหรือไปใช้ในการนวดเพื่อบำบัด
ส่วนการเก็บรักษาน้ำมันงาดำสกัดเย็นในรูปแบบที่สอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดีทีสุด คือ การเก็บรักษาไว้ในรูปแคปซูลเจล ซึ่งช่วยคงคุณค่าทางอาหารและคุณสมบัติของน้ำมันงาดำสกัดเย็นได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากน้ำมันงาดำไม่โดนอากาศและแสงแดดเลย จึงเหมาะสำหรับใช้รับประทานเพื่อดูแลสุขภาพมากที่สุด
การบริโภคน้ำมันงาดำสกัดเย็นชนิดแคปซูล จึงเป็นทางเลือกที่ดี สะดวก ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะนอกจากจะปลอดเชื้อราและไม่ผ่านความร้อนแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารมากและมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงอีกด้วย
ข้อควรระวังในการบริโภคงาดำ
การบริโภคงาดำถือเป็นการบริโภคที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงอะไรสำหรับคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณสมบัติบางประการของงาดำ บุคคลบางกลุ่มจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานงาดำ หากมีท่านมีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้
แพ้งา
การแพ้งามีความคล้ายคลึงกับการแพ้ถั่วที่หลายคนเป็นกัน การที่เราจะทราบได้ว่า เราแพ้งาหรือไม่ ? ต้องได้รับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้จากทางโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีสารก่อภูมิแพ้บางชนิดที่เหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ หากท่านเคยแพ้ถั่ว เราแนะนำให้ท่านตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ก่อนการบริโภคงาหรือน้ำมันงา อย่างไรก็ตาม คนที่แพ้ถั่วไม่จำเป็นต้องแพ้งา และคนที่แพ้งาไม่จำเป็นต้องแพ้ถั่วแต่อย่างใด
ท้องเสีย
เนื่องจากงาดำมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ผู้ที่มีอาการท้องเสียอยู่ก่อนแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคงาดำหรือน้ำมันงาดำ จนกว่าอาการท้องเสียจะหายหรือทุเลาก่อน เพราะหากบริโภคงาดำเข้าไปในขณะที่ท้องเสีย อาจทำให้ท้องเสียมากยิ่งขึ้น
สรุป
งาดำมีสารประกอบฟีนอลหลายชนิด สารประกอบฟีนอลที่เป็นสารสำคัญในงาดำ คือ เซซามิน มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ จึงทำให้งาดำมีความสามารถในการต้านโรคกระดูกพรุนและโรคข้อเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้งาดำยังมีสารอาหารที่หลายชนิดที่จำเป็นต่อกระดูกและไขข้อ จึงอาจกล่าวได้ว่า งาดำเป็นอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพของกระดูกและข้ออย่างแท้จริง
การบริโภคงาดำควรบริโภคในรูปของน้ำมันงาดำสกัดเย็นแคปซูล เพราะมีคุณค่าทางอาหารและสารต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง เนื่องจากเป็นการสกัดโดยไม่ผ่านความร้อน ถูกเก็บไว้ในแคปซูลและไม่สัมผัสกับอากาศ ทำให้น้ำมันงาดำสกัดเย็นที่สกัดมาแล้วยังคงความสดใหม่และรักษาคุณภาพที่ดีไว้ได้
อ้างอิง
Chondroprotective and anti-inflammatory effects of sesamin, 2012 Aug;80:77-88. doi: 10.1016/j.phytochem.2012.05.016. Epub 2012 Jun 14. [PubMed]
Effects of sesamin on the biosynthesis of chondroitin sulfate proteoglycans in human articular chondrocytes in primary culture, 2014 Apr;31(3):221-30. doi: 10.1007/s10719-013-9514-6. Epub 2013 Dec 12. [PubMed]