กระดูกพรุน (Osteoporosis) ถือเป็น “ภัยเงียบ” เพราะคนจำนวนมากป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนแบบไม่รู้ตัว กระดูกของเราสามารถสูญเสียความแข็งแรงได้ โดยที่เราไม่มีความเจ็บปวดหรืออาการอะไรเลย โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่อาศัยระยะเวลาในการพัฒนาค่อนข้างนาน โดยกระดูกมีมวลหรือความหนาแน่นที่ลดลงทีละนิดอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่ภาวะกระดูกบางและสุดท้ายเข้าสู่ภาวะกระดูกพรุนได้

ซ้ายมือคือกระดูกสุขภาพดีปกติ ขวามือคือกระดูกพรุน
งาดำเป็นพืชโบราณที่ช่วยต้านกระดูกพรุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเรารู้จักบริโภคอย่างเพียงพอและถูกวิธี ประกอบกับมีหลักฐานอ้างอิงเกี่ยวกับการใช้งาดำสำหรับบำรุงกระดูกในส่วนของแพทย์ทางเลือก และในส่วนของงานวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หากท่านผู้อ่านได้ศึกษาข้อมูลในบทความนี้อย่างเข้าใจถ่องแท้และนำไปปฏิบัติ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ไม่มากก็น้อยครับ
ทำความรู้จักกับงาเสียก่อน
งาเป็นธัญพืชน้ำมันที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง มนุษย์มีความคุ้นเคยกับการปลูกงามายาวนานกว่า 3,000 ปี งามีหลายสายพันธุ์ ส่วนมากเป็นสายพันธุ์ป่าจากทวีปแอฟริกา งาที่เราปลูกและรับประทานกันมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งมีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศมากกว่าพืชทั่วไป
งาเป็นหนึ่งในพืชที่มีน้ำมันจากเมล็ดมากที่สุดอย่างหนึ่ง มีรสชาติคล้ายถั่ว และเป็นส่วนประกอบในอาหารนานาชนิดทั่วโลก มีคนบางกลุ่มที่มีอาการแพ้งาหลังจากการบริโภค คล้ายกับการบริโภคถั่วและอาหารชนิดอื่นๆ
งามีหลายสีขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูก เช่น สีเหลืองแกมเทา สีน้ำตาลไหม้ สีทอง สีน้ำตาล สีแดง สีเทาและสีดำ งาที่ได้รับความนิยมในการซื้อขายกันมากที่สุด คือ งาขาว (มีสีขาวนวล)
บางครั้งการผลิตงาเพื่อขายอาจมีการปอกเปลือกเหลือเฉพาะเนื้องาข้างในให้มีสีขาว เพื่อเพิ่มความน่ารับประทานเมื่อนำไปประกอบกับอาหาร
ถิ่นกำเนิดของงา
งาได้ชื่อว่าเป็นพืชประวัติศาสตร์ เพราะมีการปลูกและใช้งาสำหรับมนุษย์ชาติมาหลายพันปีแล้ว
- จากหลักฐานทางโบราณคดีพบซากไหม้ของงา และถูกประเมินว่ามีอายุกว่า 3,000 – 3,050 ปี ก่อนคริสตกาล
- มีการกล่าวอ้างว่ามีการซื้อขายงาระหว่างอาณาจักรเมโสโปเตเมียกับอินเดียตั้งแต่ 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล
- บางรายงานกล่าวอ้างว่า มีการปลูกงาในประเทศอียิปต์ในสมัย Ptolemiac 305 ปีก่อนคริสตกาล
- บันทึกของชาวบาลิโลนและอัสซีเรียน มีการพูดถึงงาตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว
- งาเป็นยาชนิดหนึ่งในตำรายาสมุนไพรรักษาโรคของชาวอียิปต์ ซึ่งเป็นตำราที่มีอายุมานานกว่า 3,600 ปี
- รายงานทางโบราณคดีกล่าวว่า ชาวตุรกีรู้จักการปลูกงาและรู้จักการสกัดเอาน้ำมันงามาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ 2,750 ปีที่แล้ว
ถ้านับจากประวัติศาสตร์ของงาตามหลักฐานที่ปรากฏจะพบว่า มนุษย์เรารู้จักการปลูกงาและใช้ประโยชน์จากงาอาจจะนานกว่า 5,000 ปีมาแล้ว
คุณค่าทางอาหารของงาดำเทียบกับงาขาว

งาขาวที่ไม่ได้ผ่านการขัดสีมักจะมีสีขาวเหลืองหรือสีคล้ายกับงาช้าง
งาดำ คือ งาที่ไม่ผ่านการขัดสี
งาขาว คือ งาสีขาวที่ไม่ผ่านการขัดสี สีขาวที่มีจึงไม่ใช่สีขาวจั๊ว แต่เป็นสีขาวธรรมชาติ อาจจะมีออกเหลืองบ้าง เทาบ้างแล้วแต่สายพันธุ์
ส่วนงาขาวที่เราเห็นว่าเป็นสีขาวแบบสม่ำเสมอเป็นงาขาวที่ผ่านการขัดสีมาแล้ว งาขาวแบบนี้คุณค่าทางอาหารน้อยกว่างาดำและงาขาวแบบไม่ขัดสีอยู่แล้ว ดังนั้น การเปรียบเทียบคุณค่าทางอาหารที่เราจะพูดถึงจะเป็นในส่วนของงาดำและงาขาวธรรมชาติ (ไม่ขัดสี)
จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้ค้นคว้ามา พบว่า สารอาหารโดยรวมในงาดำและงาขาวไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่จุดที่แตกต่างคือฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง
ทำไมต้องเป็นงาดำ งาดำดีกว่างาขาวอย่างไร ?

ซ้ายมือคืองาดำและขวามือคืองาที่ผ่านการขัดสีจนได้เป็นสีขาวเนียน
งาดำ คือ งาที่ไม่ผ่านการขัดสี ส่วนงาขาวที่มีสีขาวธรรมชาติ คือ สีออกขาวเหลืองหรือขาวเทา ก็เป็นงาที่ไม่ได้ขัดสีเช่นกัน ส่วนงาที่เป็นสีขาวเนียน จะเป็นงาที่ผ่านการขัดสีแล้ว งาขาวเนียนที่เราเห็นกันตามท้องตลาดจึงมีสารอาหารน้อยกว่างาดำ ซึ่งไม่ได้มีการขัดสีอยู่แล้ว ลองเปรียบเทียบง่ายๆกับข้าว เราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าข้าวไม่ขัดสีหรือข้าวกล้องมีคุณค่าทางอาหารสูงและมีประโยชน์มากกว่าข้าวขาวหรือข้าวขัดสีมาก
- ตั้งแต่สมัยโบราณหลายพันปีผ่านมาแล้ว งาดำมักถูกใช้ในทางการแพทย์หรือใช้เป็นยามากกว่างาขาว เพราะมีสรรพคุณหรือคุณสมบัติทางยาที่มากกว่า ใช้บำรุงสุขภาพและรักษาโรคได้ดีกว่า
- นักวิจัยค้นพบว่าแม้เปลือกและเนื้อของงาดำและงาขาวมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง แต่เมื่อเทียบกันระหว่างงาดำกับงาขาวแล้ว เปลือกและเนื้อของงาดำมีสารประกอบฟีนอล (Phenolic Compounds) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่างาขาวมากถึง 3 เท่าตัว
- นักวิจัยค้นพบว่า ในน้ำมันงาดำ มีสารประกอบฟีนอล (Phenolic Compounds) ที่จัดอยู่ในกลุ่มของลิกแนน (Lignans) สารเหล่านี้ได้แก่ สารเซซามิน (Sesamin) เซซาโมลิน (Sesamolin) และเซซามอล (Sesamol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดีมีอยู่ในงาและมีมากในงาดำเท่านั้น
- ในทางแพทย์แผนจีน สีดำเป็นของไต และไตเป็นแหล่งกำเนิดแห่งชีวิต แพทย์จีนจึงเลือกใช้งาดำในการบำบัดและรักษาโรคหลายชนิด
สารพฤกษเคมี (Phytochemical) ที่สำคัญในงาดำ

โครงสร้างทางเคมีของลิกแนน
สารพฤกษเคมีของงาดำที่โดดเด่นและมีประโยชน์มาก คือ สารประกอบฟีนอลในกลุ่มลิกแนนที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะพบได้ในงาสีต่างๆและพบได้มากในงาดำเท่านั้น ได้แก่สารดังต่อไปนี้
- เซซามิน
- เซซาโมลิน
- เซซามอล
จากงานวิจัยจำนวนมากพบว่าสารพฤกษเคมีเหล่านี้มีประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกิดจากความถดถอยหรือความเสื่อมของร่างกาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันเลว (LDL)ในร่างกายสูง โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไตวายเรื้อรัง โรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน รวมถึงใช้ในศาสตร์ชะลอวัยหรือต้านแก่ (Anti-aging) อีกด้วย
จากผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ณ ขณะนี้สารสำคัญของงาดำที่ดูเหมือนจะเป็นพระเอกหรือเป็นสารที่มีความโดดเด่นในการต้านอนุมูลอิสระ คือ เซซามิน กล่าวคือ มีประสิทธิภาพในการต้านโรคสูงกว่า เซซาโมลินและเซซามอล ผู้ผลิตอาหารเสริมจึงเริ่มที่จะมีการสกัดสารสำคัญชนิดนี้ออกมาจากงาดำ แล้วทำออกมาจำหน่ายในรูปอาหารเสริม เพราะเซซามินจะมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมากในงาดำ คือ มีเพียง 0.14% จากปริมาณน้ำมันงาดำสกัด โดยที่ผู้ผลิตเชื่อว่าการที่ร่างกายได้รับสารสกัดชนิดนี้อย่างเพียงพอจะทำให้ร่างกายประโยชน์มากที่สุด
สารอาหารในงาดำ
งาดำมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด จนได้ชื่อว่าเป็นอาหารและยาอายุวัฒนะของคนสมัยโบราณ โดยเฉพาะคนจีนที่นิยมใช้งาดำกันอย่างแพร่หลายในอาหารและใช้เป็นยารักษาโรคในทางการแพทย์แผนจีนมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว โดยงาดำมีข้อมูลทางโภชนาการและสารอาหารที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1. แคลเซียมสูงมาก
งาดำเป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูงมาก โดยงาดำ 100 กรัม จะมีแคลเซียมอยู่ประมาณ 975 มิลลิกรัมและในหนึ่งวันตามมาตราฐานของ Thai RDI แนะนำให้คนทั่วไปได้รับแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายวันละ 800 มิลลิกรัม นั่นแสดงให้เห็นว่า หากเราบริโภคงาดำเพียงวันละ 100 กรัมหรือขีดเดียว ปริมาณแคลเซียมที่เราได้รับเข้าสู่ร่างกายก็เพียงพอตามมาตราฐานแล้ว
นมโคเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมทั่วโลก เพราะเราหลายคนถูกสอนกันมาว่า กินนมเยอะๆร่างกายแข็งแรง โตเร็ว โตไวและมีสุขภาพดี ในอีกส่วนหนึ่งก็มีคนจำนวนมากที่บริโภคนมวัวกันเป็นประจำเพราะต้องการแคลเซียมในนมวัวเพื่อการเสริมสร้างและการบำรุงกระดูกและฟัน
นมโคน้ำหนัก 100 กรัม จะมีแคลเซียมเพียง 120 มิลลิกรัมเท่านั้น หากเรานำมาเปรียบเทียบกับงาดำน้ำหนัก 100 กรัมที่มีปริมาณแคลเซียมเท่ากับ 975 มิลลิกรัม จะพบว่างาดำที่น้ำหนักเท่ากับนมวัวมีปริมาณแคลเซียมเป็น 975/120 = 8.125 หรือประมาณ 8 เท่าของนมวัวเลยทีเดียว
นอกจากนี้นมโคอาหารที่เป็นอาหารยอดนิยมของใครหลายคน ยังมีคำถามหรือข้อกังขาที่น่าสงสัยว่า “จริงๆแล้วมนุษย์ควรดื่มนมวัวเป็นอาหารหรือไม่ ?” เพราะมีคนจำนวนมากที่มีอาการแพ้นมวัว และประเทศที่ดื่มนมวัวหรือนมโคกันเป็นอาหารอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อบำรุงสุขภาพ เสริมแคลเซียมให้ร่างกายเพื่อบำรุงกระดูกอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประชากรกลับมีอัตราความเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนติดอันดับต้นๆของโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย
2. โปรตีนสูง
งาดำจัดเป็นอาหารที่มีโปรตีนจากพืชสูงมาก โดยมีค่าอยู่ที่ 17% โดยน้ำหนัก หลังจากได้อ่านประโยคนี้แล้วหลายท่านอาจตั้งคำถามว่า โปรตีนงาดำสูงมาก สูงแค่ไหน ? และอาจจะยังไม่เห็นภาพ ผู้เขียนขออธิบายด้วยการเปรียบเทียบดังต่อไปนี้
โปรตีนจากงาดำน้ำหนัก 100 กรัม จะมีปริมาณ 18 กรัม เทียบได้กับ
- การบริโภคอกไก่ น้ำหนัก 100 กรัม (งาดำและอกไก่มีปริมาณโปรตีนมากพอๆกัน)
- การบริโภคไข่ไก่เบอร์ใหญ่ (เบอร์ศูนย์) ประมาณ 3 ฟอง
- การบริโภคปลาแซลมอนหรือปลาทู 82 กรัม
คนทั่วไปส่วนมากมักได้รับโปรตีนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไม่ว่าจะเป็น เนื้อ นมหรือไข่ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับงาดำกับผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์แล้ว ปริมาณโปรตีนที่ได้จากผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์อาจมีโปรตีนอยู่ในระดับที่เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกันกับโปรตีนจากงาดำในน้ำหนักที่เท่ากัน หลายคนจึงมองว่าหากต้องการโปรตีนในปริมาณมากๆก็บริโภคอาหารที่ได้จากสัตว์เอาก็ไม่น่ามีปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างแรง
จริงอยู่การบริโภคอาหารที่ได้จากสัตว์ทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนสูงและได้รับในปริมาณที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ผลเสียของการบริโภคโปรตีนจากสัตว์ที่มากเกินไป ก็มีอยู่หลายอย่างตามผลงานวิจัยในหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า The China Study
ข้อสรุปอย่างหนึ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คือ การบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมเมื่อเทียบสัดส่วนกับการบริโภคโปรตีนจากพืช กล่าวคือ บริโภคโปรตีนจากสัตว์มากเกินกว่าโปรตีนจากพืชถึง 2 เท่าตัว มีผลทำให้ร่างกายเจ็บป่วยและป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้ในระยะยาว
จากข้อสรุปในงานวิจัยข้างต้น จึงสามารถสรุปได้ว่า คนเราควรบริโภคโปรตีนจากพืชให้มากเข้าไว้ บริโภคโปรตีนจากสัตว์ให้น้อยกว่า งาดำเป็นอาหารที่มีโปรตีนจากพืชสูง จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนทั่วไปอย่างหนึ่ง
3. ไขมันสูง
งาดำหรืองาสีอื่นมีไขมันโดยน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 40% – 50% โดยส่วนประกอบของไขมันที่มีอยู่ในงาดำจะมีทั้งเป็นกรดไขมันจำเป็น (ร่างกายสร้างเองไม่ได้ต้องได้รับจากอาหาร) อันได้แก่ กรดไขมันโอเมก้า 3 กรดไขมันโมก้า 6 และกรดไขมันไม่จำเป็น อันได้แก่ โอเมก้า 9 ซึ่งกรดไขมันเหล่าเป็นกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนเรามาก
4. คาร์โบไฮเดรตชนิดดี
ในงาดำมีคาร์โบไฮเดรตชนิดดีกล่าวคือ เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายค่อยๆย่อยและดูดซึมไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะมีส่วนผสมของไฟเบอร์หรือใยอาหารจากธรรมชาติ มีผลทำให้ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ในการหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่เรียกว่า “อินซูลิน” ทำงานน้อยลง ต่างจากคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดี ที่ทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนัก เพราะระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตับอ่อนจึงจำเป็นต้องหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
5. มีวิตามินหลากหลาย
ในงาดำมีวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด ได้แก่
- วิตามิน B1
- วิตามิน B2
- วิตามิน B3
- วิตามิน B5
- วิตามิน B6
- วิตามิน B9
- วิตามิน A
- วิตามิน E
6. มีแร่ธาตุจำเป็นที่หลากหลาย
คำว่าแร่ธาตุ หมายถึง แร่ธาตุหลักและแร่ธาตุรอง
แร่ธาตุหลัก คือ แร่ธาตุที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมากเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและทำงานได้เป็นปกติ ในงาดำจะมีแร่ธาตุหลักดังต่อไปนี้ คือ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัสโพแทสเซียม โซเดียม
แร่ธาตุรอง คือ แร่ธาตุที่จำเป็นต้องร่างกายเช่นเดียวกันกับแร่ธาตุหลัก แต่ร่างกายต้องการในปริมาณไม่มาก ในงาดำจะมีแร่ธาตุรองดังต่อไปนี้ คือ เหล็ก สังกะสี แมงกานีส ทองแดง เซเลเนียม
การนำงาดำไปใช้ในทางการแพทย์ทางเลือก

สปาแบบอายุรเวทที่มีการใช้น้ำมันงาในการนวดเพื่อผ่อนคลายและเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย
แพทย์แผนอินเดีย
การแพทย์แผนอินเดียจะเรียกว่า การแพทย์อายุรเวท (Ayurveda) การใช้น้ำมันงาของแพทย์อายุรเวทหรือแม้แต่คนอินเดียโดยทั่วไป เป็นไปอย่างแพร่หลายและลึกซึ้งอยู่ในวัฒนธรรมของคนอินเดียมายาวนาน
แพทย์หรือคนอินเดียใช้น้ำมันงาดำหรืองาสีอื่นในการปรุงตำรับยาสมุนไพร เกือบทุกชนิดมีส่วนผสมของน้ำมันงา ใช้น้ำมันงาในการประกอบอาหาร ใช้ในการกลั้วปากเพื่อให้ฟันขาวสะอาดและแข็งแรง และที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นการใช้น้ำมันงาในการชโลมและนวดทั่วร่างกายตั้งแต่ปลายผมจรดปลายเท้า เพราะองค์ความรู้โบราณของอินเดียมีการสอนไว้ว่า การชโลมและนวดร่างกายด้วยน้ำมันงามีผลทำให้สุขภาพดีมีร่างกายแข็งแรง
การนวดด้วยน้ำมันงาจะต้องใช้ความร้อนเข้าช่วย กล่าวคือ คนอินเดียอาจจะทาน้ำมันงาไว้ทั่วตัว แล้วเข้าไปในที่ร้อนๆหรือแช่น้ำร้อนเพื่อให้ความร้อนขยายรูขุมขนและดูดซึมน้ำมันเข้าสู่ร่างกายได้ดี หรืออุ่นน้ำมันงาดำให้ร้อนในระดับหนึ่งแล้วใช้นวดไปทั่วร่างกายก็ได้
การใช้น้ำมันงาดำชโลมหรือนวดไปทั่วร่างกายจะส่งผลดดีให้กับเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย โดยมีความเชื่อว่าร่างกายจะได้รับประโยชน์ตั้งแต่ผิวหนัง กล้ามเนื้อ อวัยวะภายในจนถึงกระดูกและไขข้อ ดังนั้น แม้แต่ในเด็กเล็กอายุ 2-3 ปี คนอินเดียเค้าก็ใช้น้ำมันงานวดตัวให้เป็นประจำ ความเชื่อของคนอินเดียเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำมันงาน่าจะเป็นจริง เพราะตัวของน้ำมันงาเองมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด รวมทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่สูงมากๆโดยเฉพาะในงาดำ รวมทั้งงานวิจัยในยุคปัจจุบันเริ่มมีข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงกับประโยชน์หลายๆอย่างของน้ำมันงาที่มาจากความเชื่อและตำราแพทย์อายุรเวทอีกด้วย
แพทย์แผนจีน
สำหรับแพทย์แผนจีน งาดำเป็นยาที่ใช้บำรุงตับและไต มีสรรพคุณในการบำรุงเลือด เพิ่มสารแห่งชีวิตหรือจิง (Jing) และเพิ่มหยินในร่างกาย แก้ปราณตับและไตพร่อง
เนื่องจากไตเป็นอวัยวะพื้นฐานและเป็นแหล่งสร้างสารแห่งชีวิต (สารจิง = Jing) จึงเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างสารแห่งความหนุ่มสาว ซึ่งลักษณะของความหนุ่มสาวของคนเราจะดูได้จากกระดูก ไขข้อและฟันที่แข็งแรง ผิวหนังที่ละเอียดและเต่งตึง ผมดกดำและไม่หงอกหรือร่วงมากนัก แพทย์จีนจึงแนะนำให้คนทั่วไปบริโภคงาดำเพื่อสร้างความอ่อนเยาว์ ต้านความแก่ บำรุงกระดูก ไขข้อ แก้ผมหงอกและผมร่วง
งาดำกับโรคกระดูกพรุน
ประโยชน์ของงาดำต่อการบำรุงกระดูกหรือต่อการบำบัดรักษาโรคกระดูกพรุน อธิบายได้ในหลายแง่มุม ตามหลักการแพทย์แต่ละแผน
หากเราอธิบายในแง่มุมของแพทย์แผนจีน ไตเป็นอวัยวะหลักที่เกี่ยวของกับกระดูกและฟันโดยตรง คือทำหน้าที่ในการสร้างกระดูกและฟัน หากไตอ่อนแอกระดูกจะพรุน ฟันโยกและฟันหลุดได้ง่าย
ตามหลักการแพทย์แผนจีน สีดำเป็นสีของไต อาหารจากธรรมชาติทุกอย่างที่เป็นสีดำ (ไม่นับรวมน้ำอัดลมสีดำหรืออาหารสีดำที่เกิดจากการปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นของคนนะครับ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดคิดว่ากินน้ำอัดลมสีดำจะช่วยบำรุงไตได้ ซึ่งผลที่ได้ตรงข้ามคือ ทำลายไต) จึงส่งผลดีกับไตโดยตรง งาดำจึงเป็นหนึ่งในอาหารและยาที่ใช้ในการบำรุงไตได้เป็นอย่างดี หากตัวเราหรือคนใกล้ชิดมีอาการของโรคกระดูกพรุนหรือต้องการบำรุงกระดูก อวัยวะที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ ไต ดังนั้น การบำรุงไตด้วยการบริโภคงาดำ ก็คือการบำรุงและเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกนั่นเอง
หากเราอธิบายข้อดีของการบริโภคงาดำในแนวทางวิทยาศาสตร์กันแบบเต็มๆ เหตุผลที่งาดำเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากระดูกพรุน มีดังต่อไปนี้
1. งาดำมีแคลเซียมสูงมาก
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกและฟัน ร่างกายต้องได้รับแคเลซียมจากอาหารเพราะไม่สามารถสร้างหรือสังเคราะห์ขึ้นเองได้ กระดูกของคนเรามีการทำลายเซลล์ที่เสื่อมสภาพและสร้างเซลล์ใหม่อยู่ตลอดเวลา หากปราศจากการบริโภคแคลเซียมที่เพียงพอและเหมาะสม ร่างกายย่อมไม่สามารถที่จะสร้างกระดูกที่แข็งแรงและมีสุขภาพดีได้
2. แคลเซียมธรรมชาติจากงาดำ
แคลเซียมจากงาดำเป็นแคลเซียมจากพืชธรรมชาติ การที่ร่างกายนำแคลเซียมไปใช้จึงมีประสิทธิภาพมากกว่าการบริโภคแคลเซียมจากนมหรือแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริม
3. งาดำเป็นอาหารบำรุงไตชั้นดี
หากไตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไตย่อมสามารถสร้างกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตไม่ว่าจะเป็นไตวายเรื้อรัง หรือไตวายเฉียบพลัน มักจะมีปัญหาโรคแทรกซ้อนชนิดหนึ่ง คือ โรคกระดูกพรุน สาเหตุที่มีโรคกระดูกพรุนแทรกซ้อนเพราะว่า เมื่อประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง ไตซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสมดุลความเป็นกรดด่างของร่างกาย จะทำหน้าที่นี้ได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด เมื่อเกิดภาวะเลือดเป็นกรดร่างกายจะพยายามปรับสภาพให้เข้าสู่สภาวะสมดุลโดยเร็ว ด้วยการดึงเอาแคลเซียมจากกระดูกเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อบัฟเฟอร์หรือทำให้เลือดเข้าสู่ภาวะสมดุลให้ได้ หากเกิดเหตุการณ์แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นระยะเวลานานๆ กระดูกย่อมเกิดภาวะสูญเสียแคลเซียมสะสม จนในที่สุดก็ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้
4. งาดำจัดเป็นอาหารที่มีสารอาหารหลากหลาย
ซึ่งสารอาหารแต่ละชนิดที่อยู่ในงาดำ ส่วนมากเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับกระดูกทั้งนั้น เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม แมงกานีส ทองแดง เหล็ก สังกะสี วิตามิน B6 โปรตีนจากพืช รวมถึงไขมันชนิดดี
5. งาดำมีสารประกอบฟีนอล (Phenolic Compounds) อยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอย่างดี ผู้เขียนเชื่อว่า คำว่า “อนุมูลอิสระ” เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เอ่ยถึงคำนี้มักจะนึกถึง ความเจ็บป่วย ความไม่สบาย และความแก่ชรา โดยข้อเท็จจริงแล้ว โรคกระดูกพรุนเป็นโรคของความถดถอยหรือความเสื่อม ซึ่งมีสาเหตุจากการเกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกายของคนเรา หากเราบริโภคอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ก็จะช่วยให้อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายลดลงได้มาก เป็นการช่วยชะลอวัยและความเสื่อมถอยของร่างกาย ซึ่งหมายถึง การช่วยชะลอความเสื่อมของกระดูก ช่วยให้กระดูกแข็งแรงและไม่เป็นโรคกระดูกพรุน
รับประทานงาดำอย่างไรปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด
วีธีการบริโภคงาดำมีอยู่หลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป เราอยากให้ท่านลองพิจารณาตามข้อมูลที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้
รับประทานทั้งเมล็ด

การบดงาดำแบบโบราณ
ถือเป็นวีธีการบริโภคงาดำที่ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะได้บริโภคงาดำทั้งเมล็ดทำให้ได้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนมากที่สุด
การบริโภคงาดำทั้งเมล็ด จำเป็นต้องผ่านการบด เพราะเปลือกของเมล็ดงาดำ ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ หากเราทานงาดำทั้งเมล็ดโดยที่เราไม่ได้บดงาดำเสียก่อน เราจะได้รับประโยชน์น้อยมาก เพราะงาดำจำนวนมากจะผ่านระบบทางเดินอาหารของเราและถูกขับถ่ายออกมา โดยที่ร่างกายไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย (กินงาดำเข้าไปอย่างไรก็ถ่ายออกมาเป็นอย่างนั้น)
คำถามยอดนิยมที่คนบริโภคงาดำมันถามกัน เวลากินงาดำต้องคั่วก่อนไหม ?
การคั่วงาจะทำให้ได้กลิ่นและรสที่ดีขึ้นหรือจะพูดกันง่ายๆก็คือ ช่วยให้บริโภคได้อร่อยขึ้น แต่…การนำงาดำไปคั่วคือการนำงาดำไปผ่านความร้อน ซึ่งความร้อนจะทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งไปลดคุณสมบัติที่ดีในการต้านอนุมูลอิสระ และถ้าคั่วนานเกินไปจนไหม้ จากงาดำที่มีประโยชน์มากก็จะกลายเป็นงาดำที่คุณค่าทางอาหารลดลงและมีความเป็นพิษต่อร่างกายเพราะมีอนุมูลอิสระอยู่
การคั่วงาควรคั่วใช้เวลานานประมาณ 3-5 นาที พอให้งามีกลิ่นหอมก็เพียงพอแล้ว สำคัญคืออย่าให้งาไหม้
การเก็บรักษางาบดเป็นเรื่องที่ต้องให้ความระมัดระวัง เพราะงาเป็นอาหารที่เกิดเชื้อราได้ง่าย หากดูแลไม่ถูกวิธี เช่น เก็บไว้ในที่ที่มีความชื้น หรือภาชนะที่เก็บงาบดไม่มิดชิด มีอากาศเข้าได้ ก็จะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่ายขึ้นด้วย
การบริโภคงาดำในรูปน้ำมัน

น้ำมันงาดำ
การบริโภคน้ำมันงาได้รับความนิยมมากในประเทศอินเดีย ทั้งในรูปน้ำมันประกอบอาหาร ยาสมุนไพร และการนวดเพื่อบำบัด
การสกัดงาเพื่อเอาน้ำมันนั้น ในสมัยก่อนจะใช้วิธีการบดงาให้ละเอียดแล้วบีบเอาเฉพาะน้ำมันงาแยกออกมา โดยจะเหลือกากงาที่สามารถนำไปทำแป้งงาได้ ซึ่งการบีบน้ำมันงาในสมัยก่อน ในกระบวนการบดงาจะทำให้เกิดความร้อน ซึ่งจะไปลดคุณค่าทางอาหารของน้ำมันงาและคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระลงด้วย
การสกัดน้ำมันงาในยุคปัจจุบัน จึงมีการพัฒนาวีธีการที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อรักษาคุณค่าทางอาหารของน้ำมันงาและคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระให้มากที่สุด การสกัดน้ำมันงาจึงใช้วีธีการสมัยใหม่ที่เรียกว่า การบีบเย็น (Cold Press) ซึ่งในกระบวนการบีบจะไม่เกิดความร้อน จึงส่งผลให้ได้น้ำมันงาที่มียังคงคุณค่าทางอาหารสูงและยังคงคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย
การเก็บรักษาน้ำมันงาดำสกัดเย็น มีอยู่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกจะบรรจุอยู่ในภาชนะ เช่น ใส่ขวดหรือโหลที่มีฝาปิดมิดชิดป้องกันอากาศเข้า การเก็บในรูปแบบนี้มักจะนำน้ำมันไปประกอบอาหารหรือไปใช้ในการนวดเพื่อบำบัด
ส่วนการเก็บรักษาน้ำมันงาดำสกัดเย็นในรูปแบบที่สอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดีทีสุด คือ การเก็บรักษาไว้ในรูปแคปซูลเจล ซึ่งช่วยคงคุณค่าทางอาหารและคุณสมบัติของน้ำมันงาดำสกัดเย็นได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากน้ำมันงาดำไม่โดนอากาศและแสงแดดเลย จึงเหมาะสำหรับใช้รับประทานเพื่อดูแลสุขภาพมากที่สุด
การบริโภคน้ำมันงาดำสกัดเย็นชนิดแคปซูล จึงเป็นทางเลือกที่ดี สะดวก ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะนอกจากจะปลอดเชื้อราและไม่ผ่านความร้อนแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารมากและมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงอีกด้วย
ข้อควรระวังในการบริโภคงาดำ
การบริโภคงาดำถือเป็นการบริโภคที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงอะไรสำหรับคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณสมบัติบางประการของงาดำ บุคคลบางกลุ่มจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานงาดำ หากมีท่านมีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้
แพ้งา
การแพ้งามีความคล้ายคลึงกับการแพ้ถั่วที่หลายคนเป็นกัน การที่เราจะทราบได้ว่า เราแพ้งาหรือไม่ ? ต้องได้รับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้จากทางโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีสารก่อภูมิแพ้บางชนิดที่เหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ หากท่านเคยแพ้ถั่ว เราแนะนำให้ท่านตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ก่อนการบริโภคงาหรือน้ำมันงา อย่างไรก็ตาม คนที่แพ้ถั่วไม่จำเป็นต้องแพ้งา และคนที่แพ้งาไม่จำเป็นต้องแพ้ถั่วแต่อย่างใด
ท้องเสีย
เนื่องจากงาดำมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ผู้ที่มีอาการท้องเสียอยู่ก่อนแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคงาดำหรือน้ำมันงาดำ จนกว่าอาการท้องเสียจะหายหรือทุเลาก่อน เพราะหากบริโภคงาดำเข้าไปในขณะที่ท้องเสีย อาจทำให้ท้องเสียมากยิ่งขึ้น
สรุป
งาดำมีสารประกอบฟีนอลหลายชนิด สารประกอบฟีนอลที่เป็นสารสำคัญในงาดำ คือ เซซามิน มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ จึงทำให้งาดำมีความสามารถในการต้านโรคกระดูกพรุนและโรคข้อเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้งาดำยังมีสารอาหารที่หลายชนิดที่จำเป็นต่อกระดูกและไขข้อ จึงอาจกล่าวได้ว่า งาดำเป็นอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพของกระดูกและข้ออย่างแท้จริง
การบริโภคงาดำควรบริโภคในรูปของน้ำมันงาดำสกัดเย็นแคปซูล เพราะมีคุณค่าทางอาหารและสารต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง เนื่องจากเป็นการสกัดโดยไม่ผ่านความร้อน ถูกเก็บไว้ในแคปซูลและไม่สัมผัสกับอากาศ ทำให้น้ำมันงาดำสกัดเย็นที่สกัดมาแล้วยังคงความสดใหม่และรักษาคุณภาพที่ดีไว้ได้
อ้างอิง
Sesamin stimulates osteoblast differentiation through p38 and ERK1/2 MAPK signaling pathways, 2012 May 30;12:71. doi: 10.1186/1472-6882-12-71. [PubMed]
Chondroprotective and anti-inflammatory effects of sesamin, 2012 Aug;80:77-88. doi: 10.1016/j.phytochem.2012.05.016. Epub 2012 Jun 14. [PubMed]
Effects of sesamin on the biosynthesis of chondroitin sulfate proteoglycans in human articular chondrocytes in primary culture, 2014 Apr;31(3):221-30. doi: 10.1007/s10719-013-9514-6. Epub 2013 Dec 12. [PubMed]
Neuroprotective Effects of Sesamin and Sesamolin on Gerbil Brain in Cerebral Ischemia, 2006 Sep; 2(3): 284–288. [PMC free article]
Milk [Wikipedia.org]